ทักทายกัน



สวัสดีค่ะ ครูดีใจมากที่นิสิตเข้ามาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในบล็อกความรู้นี้ เราเกิดมาในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถค้นหาความรู้ได้ตลอดเวลาอย่างไร้พรมแดน ถ้ามัวแต่รอคอยรับฟังความรู้จากครูในห้องเรียนอย่างเดียว จะกลายเป็นเต่าที่ก้าวตามคนอื่นไม่ทัน ต้องยืนอยู่แถวหลังๆ หมดโอกาสที่จะได้รับสิ่งดี ๆ คนยุคใหม่ที่ต้องการประสบผลสำเร็จต้องหมั่นใฝ่หาความรู้ให้ทันต่อวิทยาการ เพื่อจะได้นำไปใช้พัฒนาตนเองให้สามารถก้าวไปยืนแถวหน้า มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ก่อนคนอื่น เช่น มีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง มีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานในหน่วยงานที่มั่นคง มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น

ครูดีใจที่นิสิตเข้ามาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในบล็อกความรู้ที่ครูสร้างขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าลูกศิษย์ของครูพร้อมที่จะก้าวไปยืนแถวหน้า ครูขอให้นิสิตประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ และมีอนาคตเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

และครูจะดีใจยิ่งขึ้นถ้านิสิตแสดงร่องรอยของการเข้ามาค้นคว้าเพิ่มเติม โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ในบล็อกแห่งนี้ หรือแนะนำเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป

อ.เพชร


13. แบบทดสอบมีกี่ประเภท ?

แบบทดสอบแบ่งตามลักษณะการเขียนตอบ ได้หลายประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติในการวัดแตกต่งกัน ดังนี้

  1. แบบทดสอบแบบถูก-ผิด (True-false test) เป็นแบบทดสอบที่กำหนดข้อความให้นักเรียนพิจารณาว่า ถูก หรือ ผิด จริง หรือ เท็จ ใช่ หรือ ไม่ใช่ อาจให้เขียนเครื่องหมาย / หรือ X หรืออาจให้ตอบ โดยใช้อักษรย่อ ถ - ผ หรือ T - F ก็ได้ มีข้อดี คือ สร้างง่ายและรวดเร็ว เขียนคำถามได้คลอบคลุมเนื้อหา ใช้วัดความจำได้ดี ตรวจง่ายและรวดเร็ว มีความเป็นปรนัยในการตรวจ แต่มีข้อเสีย คือ วัดพฤติกรรมพุทธิพิสัยขั้นนสูงไม่ได้ เดาถูกได้มากกว่าข้อสอบแบบอื่นๆ ไม่สามารถใช้วินิจฉัยข้อบกพร่องทางการเรียนได้
  2. แบบทดสอบแบบจับคู่ (Matching test) เป็นแบบทดสอบที่ประกอบด้วย 2 คอลัมน์ ในแต่ละคอลัมน์จะประกอบด้วย คำ ข้อความ ประโยค หรือวลีที่มีความสัมพันธ์กัน วิธีการตอบจะให้ผู้สอบจับคู่ระหว่าง 2 คอลัมน์ให้สัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง มีข้อดี คือ ใช้วัดความจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงระหว่างสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันได้ดี สร้างง่าย ตรวจง่ายและรวดเร็ว เดาคำตอบได้น้อยกว่าข้อสอบแบบถูกผิด การให้คะแนนเป็นปรนัย ส่วนข้อเสีย คือ วัดพฤติกรรมสูงกว่าความจำได้ยาก นักเรียนอาจเดาข้อหลังได้เนื่องจากเหลือตัวเลือกให้เลือกน้อยลง ถ้าคำชี้แจงไม่ชัดเจนอาจทำให้นักเรียนไม่เข้าใจวิธีการตอบ
  3. แบบทดสอบแบบ เติมคำ (Completion test) เป็นแบบทดสอบที่มีลักษณะเป็นโจทย์ข้อความที่ถามให้นักเรียนเขียนคำตอบตอบโดยใช้คำ หรือประโยคสั้น ๆ เติมลงในช่องว่าง มีข้อดี คือ สร้างง่ายและรวดเร็ว เขียนคำถามให้คลอบคลุมเนื้อหาได้ ใช้วัดความจำได้ดี เดาคำตอบได้ถูกยากกว่าข้อสอบปรนัยอื่นๆ แต่มีข้อเสีย คือ วัดพฤติกรรมสูงกว่าความจำไม่ได้ ตรวจยาก
  4. แบบสอบแบบปรนัยเลือกตอบ (Multiple Choices test) เป็นแบบทดสอบที่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนคำถามและ ส่วนของตัวเลือก ซึ่งประกอบด้วยตัวเลือกถูก กับตัวลวง ปกติจะมีประมาณ 3 – 5 ตัวเลือก มีข้อดี คือ วัดพฤติกรรมพุทธิพิสัยได้ครบทั้ง 6 ขั้น ตรวจง่าย เขียนข้อสอบได้คลุมเนื้อหา แต่มีข้อเสีย คือ สร้างยากโดยเฉพาะคำถามที่วัดพฤติกรรมขั้นสูง ใช้เวลาในการเขียนข้อสอบนาน วัดการแสดงวิธีทำ ทักษะการเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ การอภิปรายแสดงความคิดเห็นไม่ได้
  5. แบบทดสอบแบบเขียนตอบ (Essay Test) เป็นแบบทดสอบที่ให้นักเรียนเขียนบรรยายคำตอบลงในกระดาษคำตอบ มีข้อดี คือ เดาไม่ได้ วัดการแสดงวิธีทำ ทักษะการเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ การอภิปรายแสดงความคิดเห็น การแสดงเหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์ ได้ดี แต่ข้อเสีย คือ ตรวจยากมาก ใช้เวลาในการตรวจนาน ไม่สามารถออกข้อสอบหลายข้อได้

    แบบทดสอบในข้อ 1 - 4 คือแบบถูกผิด จับคู่ เติมคำ เลือกตอบ มีลักษณะคำถามที่มุ่งให้นักเรียนเขียนตอบสั้น ๆ หรือตอบโดยใช้สัญลักษณ์ เช่น กากบาท โยงเส้น หรือวงกลม เรียกว่าแบบทดสอบปรนัย (objective test) ส่วนแบบทดสอบในข้อ 5 เป็นแบบทดสอบที่มุงให้นักเรียนเขียนตอบหลาย ๆ บรรทัด บางครั้งเรียกว่าแบบทดสอบอัตนัย (subjective test)

12.เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการศึกษามีอะไรบ้าง?

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการศึกษามีหลายชนิด แต่ละชนิดเหมาะสมกับการวัดพฤติกรรมทางการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
  1. การทดสอบ(Testing)หมายถึง กระบวนการในการนำชุดของสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการวัดออกมาให้ครูสังเกตได้และวัดได้ โดยทั่วไปครูใช้การทดสอบเพื่อวัดพฤติกรรมพุทธิพิสัย ของนักเรียน อันประกอบไปด้วยความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยมีแบบทดสอบ(test) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา
  2. การสังเกต (Observation) หมายถึง การเฝ้าดูพฤติกรรมที่ต้องการสังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยอาศัยประสาทสัมผัสแล้วจดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการลงสรุปสิ่งที่ทำการสังเกตได้ เครื่องมือที่ใช้จดบันทึกผลการสังเกต เช่น แบบสำรวจรายการ มาตรประมาณค่า หรือแบบบันทึก ครูใช้การสังเกตในการวัดพฤติกรรมจิตพิสัย และทักษะพิสัย ของนักเรียน
  3. แบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นเครื่องมือวัดที่มีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ ซึ่งต้องการคำตอบเพียง 2 กรณี คือ ตอบรับกับตอบปฏิเสธ เช่นนักเรียนปกิบัติได้ หรือปฏิบัติไม่ได้ , นักเรียนมีพฤติกรรม หรือไม่มีพฤติกรรม นิยมใช้ประกอบการสังเกตว่าน.ร.มีพฤติกรรมจิตพิสัย หรือทักษะพิสัย ที่ครูต้องการตรวจสอบหรือไม่
  4. มาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นเครื่องมือวัดมีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ เหมือนกับแบบสำรวจรายการต่างกันตรงที่สามารถบอกระดับคุณภาพหรือระดับปริมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น นักเรียนปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้พอใช้ หรือปฏิบัติไม่ได้ นิยมใช้ประกอบการสังเกตพฤติกรรม จิตพิสัย หรือ ทักษะพิสัย ที่ต้องการทราบระดับคุณภาพ
  5. การจดบันทึก (Records) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจดบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์จากที่สังเกตได้ โดยการเขียนข้อความเกี่ยวกับ สิ่งที่สังเกตได้ลงในสมุดบันทึกอย่างเป็นระบบตามความเป็นจริง นิยมใช้เป็นเครื่องมือประกอบการสังเกตพฤติกรรมจิตพิสัย
  6. การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการพูดคุยกันอย่างมีจุดมุ่งหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ครูใช้การสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึก ของนักเรียน หรืออาจสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพื่อเกี่บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน
  7. แบบสอบถาม (Questionaire) เป็นชุดของคำถามที่ใช้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ โดยผู้ตอบจะต้องเขียนตอบลงในแบบสอบถามด้วยตัวเอง ครูใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลลักษณะเดียวกับการสัมภาษณ์ เช่น ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึก ของนักเรียน แต่จะใช้ได้ดีในกรณีที่นักเรียนอ่านออกเขียนได้
  8. สังคมมิติ (Sociometry) เป็นวิธีการวัดเพื่อศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล ว่านักเรียนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่มเพียงใด โดยให้นักเรียนตอบคำถามที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ใครเป็นเพื่อนรักของนักเรียน ,นักเรียนชอบเล่นกับใครแล้วครูนำคำตอบของนักเรียนมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่ามีนักเรียนคนใดบ้างที่เพื่อนไม่เลือก ซึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาด้านการปรับตัว

11.การวัดผลการศึกษามีประโยชน์ต่อใครบ้าง ?

การวัดผลมีประโยชน์ต่อการศึกษามากมาย เพราะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทราบข้อมูลต่าง ที่จะนำมาใช้ในการวางแผน พัฒนา และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ทางการศึกษา ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับประโยชน์จากการวัดผลการศึกษา มีดังนี้

1.นักเรียนเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการวัดผลการศึกษาโดยตรง ดังนี้
1.1ช่วยให้นักเรียนรู้สถานภาพของตนเองว่ามีจุดเด่นอะไรที่ควรพัฒนา และมีจุดบกพร่องอะไรที่ควาปรับปรุงแก้ไข
1.2ช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อ และตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน
1.3 ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกระตือรือล้นในการเรียน

2. ครูได้รับประโยชน์จากการวัดผลการศึกษาเพื่อนำมาปรับปรุงผู้เรียนและปรับปรุงตนเอง ดังนี้
2.1 ช่วยให้ครูรู้สภาพของนักเรียนว่า นักรียนคนใดที่ควรพัฒนาส่งเสริม นักเรียนคนใดควรปรับปรุงแก้ไข
2.2 ช่วยให้ครูรู้ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นเหมาะสม หรือสมควรปรับปรุงแก้ไข
2.3 ช่วยให้ครูรู้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน

3. ผู้ปกครอง ได้รับประโยชน์จากการวัดผลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ดังนี้
3.1 ช่วยให้ทราบศักยภาพของบุตรหลานว่าควรส่งเสริม พัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขเรื่องใด
3.2 ช่วยให้ทราบความสามารถบุตร หลาน เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริม สนับสนุน เกี่ยวกับการเลือกศึกษาต่อ หรือเลือกอาชีพ

4. ผู้บริหารได้รับประโยชน์จากการวัดผลการศึกษา ดังนี้
4.1 ช่วยให้ทราบว่าการจัดการศึกษาของสถานศึกษามีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
4.2 ช่วยให้ทราบข้อมูลผลการเรียนของนักเรียนเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย การวางแผน การพัฒนา และปรับปรุงแก้ไขการเรียนการสอนของสถานศึกษา
4.3 ช่วยในการคัดเลือกนักเรียน คัดเลือกครู และคัดเลือกบุคลกรต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเรียนและทำงานในสถานศึกษา

10.ครูต้องวัดผลพฤติกรรมทางการศึกษาของนักเรียนด้านใดบ้าง?

หลักสูตรทุกรายวิชามุ่งให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมทางการศึกษา 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ดังนั้นครูจะต้องจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน พร้อมทั้งวัดผลว่านักเรียนเกิดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน หรือไม่

พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย เป็นพฤติกรรมด้านสมองหรือด้านสติปัญญาของนักเรียน แบ่งออกเป็น 6 ระดับ จากความสามารถขั้นต่ำ ไปขั้นสูง ดังนี้
1.ความรู้ความจำ เป็นความสามารถในการระลึกได้ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา และสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างถูกต้อง เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถบอกสูตรการหาพื้นที่สื่เหลี่ยมผืนผ้าได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถบรรยายขั้นตอนการตอนกิ่งได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถบ่งชี้โทษของบุหรี่ได้
2.ความเข้าใจ เป็นความสามารถในการขยายความรู้ความจำให้กว้างไกล ออกไปอย่างสมเหตุสมผล โดยการแปลความ ตีความ ขยายความ เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถแปลความบทร้อบกรองให้เป็นร้อยแก้วได้ เพื่อให้นักเรียนอ่านแผนผังที่กำหนดให้ได้ เพื่อให้นักเรียนคาดคะเนแนวโน้มของข้อมูลจากกราฟที่กำหนดให้ได้
3.การนำไปใช้ เป็นความสามารถนำความรู้ความจำและความเข้าใจไปใช้ แก้ปัญหาในสถานการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์เกี่ยวกับการคูณได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้คำราชาศัพท์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์
4.การวิเคราะห์ ความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อค้นหาความจริงหรือความสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ในสิ่งนั้น เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถบอกสาเหตุสำคัญของปัญหามลภาวะเป็นพิษในปัจจุบันได้
เพื่อให้นักเรียนสามารถตั้งชื่อเรื่องจากบทความที่กำหนดให้อ่านได้
5.การสังเคราะห์ ความสามารถในการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพื่อให้นักเรียนเขียนเรียงความได้ เพื่อให้นักเรียนวางแผนการจัดแสดงละครได้
6.การประเมินค่า ความสามารถในการตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีกฏเกณฑ์ เช่น เพื่อให้นักเรียนตัดสินความน่าเชื่อถือจากข่าวที่กำหนดให้อ่านได้ เพื่อให้นักเรียนเปรียบเทียบคุณภาพของอาหารจากการสังเกตการปฏิบัติการปรุงอาหารแต่ละครั้งได้

พฤติกรรมด้านจิตพิสัย เป็นพฤติกรรมด้านจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของนักเรียน เช่น ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม ความก้าวร้าว การปรับตัว รวมถึงคุณธรรมต่าง ๆ ตัวอย่งจุดประสงค์ เช่น เพื่อให้นักเรียนสนุกสนาน เพลิดเพลินในวิชาศิลปะ เพื่อให้นักเรียนมีมรรยาทในการพูดต่อหน้าสาธารณะชน เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์

พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย เป็นความสามารถในการปฏิบัติสิ่งต่างๆ โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายทำงานประสานกับประสาทสัมผัสได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น เพื่อให้นักเรียนร้องเพลงได้ถูกตามทำนองและจังหวะ เพื่อให้นักเรียนตัดเย็บเสื้อตามแบบตัดได้ เพื่อให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะได้

พฤติกรรมทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ ถ้าบุคคลมีความรู้ที่ถูกต้องก็จะทำให้ปฏิบัติกิจรรมได้อย่างถูกต้อง เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็จะมีความรู้สึกที่ดี พึงพอใจในการปฏิบัติของตน คอยหาโอกาสที่จะปฏิบัติบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ และความมีคุณธรรมจริยธรรมจะช่วยให้บุคคลนำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมไปพร้อม ๆ กันทั้ง 3 ด้าน คือ พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย และไม่ควรละเลยที่จะวัดพฤติกรรมด้านใดด้านหนึ่งไป เพราะผลการวัดจะช่วยตรวจสอบได้ว่านักเรียนมีพฤติกรรมทางการศึกษาด้านใดบกพร่องบ้าง หากครูจะได้ปรับกรุงแก้ไขให้นักเรียนมีพฤติกรรมทางการศึกษาที่สมบูรณ์ทั้ง 3 ด้าน

09.จุดประสงค์ทีครูนำมาใช้ประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ต้องมีลักษณะอย่างไร ?

จุดประสงค์ทีจะนำมาใช้ประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ต้องมีลักษณะเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม คือ เป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ระบุพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างชัดเจนว่าจะต้องแสดงพฤติกรรมอะไร หรือสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาให้ครูสามารถสังเกตได้ และวัดผลได้ ซึ่งจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สมบูรณ์ ต้องมีส่วนประกอบครบ 3 ส่วน คือ เงื่อนไข เป็นข้อความที่บอกถึงสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมออกมา พฤติกรรมที่คาดหวัง เป็นข้อความที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ ครูต้องการให้นักเรียนแสดงออกได้หลังจากจบเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งต้องเป็นพฤติกรรมที่ครูสามารถสังเกตได้ และวัดผลได้ และ เกณฑ์ เป็นข้อความที่บอกให้ทราบว่าผู้เรียนจะต้องแสดงพฤติกรรมได้อย่างน้อยเพียงใดจึงจะยอมรับว่าผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการแล้ว

เช่น เงื่อนไข : เมื่อกำหนดโจทย์ปัญหาการคูณให้ 10 ข้อ
พฤติกรรมที่คาดหวัง : นักเรียนแก้โจทย์ปัญหาการคูณได้
เกณฑ์ : ถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 80

เงื่อนไข : เมื่อกำหนดอุปกรณ์การทำความสะอาดให้
พฤติกรรมที่คาดหวัง : น.ร.สามารถ ใช้ อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านได้
เกณฑ์ : ถูกต้องตามขั้นตอน

08.การวัดผลการศึกษาแบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ถ้าแบ่งประเภทการวัดผลการศึกษาตามจุดประสงค์ของการประเมินแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

1.การประเมินผลก่อนเรียน เป็นการประเมินผลก่อนเริ่มต้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อหาสารสนเทศของผู้เรียนเบื้องต้น ใน 2 ประเด็น ต่อไปนี้ 1. ความรู้ที่เป็นพื้นฐานของเรื่องใหม่ เพื่อนำผลการประเมินมาซ่อมเสริมให้นักเรียนทุกคนมีพื้นฐานก่อนเรียนเรื่องใหม่ ช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน เช่น ก่อนครูคณิตศาสตร์จะสอนเรื่องการคูณ ควรตรวจสอบความรู้พื้นฐานเรื่องการบวก 2. ความรอบรู้ในเรื่องใหม่ที่จะเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะกับสภาพของผู้เรียน

2.การประเมินผลระหว่างเรียน เป็นการประเมินผลย่อยในระหว่างเรียนเพื่อตรวจสอบว่านักเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยหรือไม่ หากพบว่ายังไม่ผ่านจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ผ่านก่อนเข้าสู่หน่วยต่อไป ช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้จากการประเมินนำไปใช้ในการ
ปรับปรุงข้อบกพร่อง และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน และใช้ในการปรับปรุงข้อบกพร่องของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

3.การประเมินผลหลังเรียน เป็นการประเมินเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อตัดสินความสำเร็จของผู้เรียน ว่ามีความรอบรู้ในเรื่องที่เรียนระดับใด ควรได้ระดับผลการเรียนเท่าใด หากนำผลการประเมินหลังเรียนไปเปรียบเทียบกับผลการประเมินก่อนเรียนแล้วจะช่วยให้ทราบว่านักเรียนมีพัฒนาการขึ้นเพียงใด



ถ้าแบ่งประเภทการวัดผลการศึกษาตามระบบของการประเมินแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1.การประเมินผลอิงกลุ่ม เป็นการประเมินที่เกิดจากพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลตามทฤษฎีการวัดแบบดั้งเดิม การแปลความหมายผลการวัดแบบอิงกลุ่มจึงนำคะแนนของนักเรียนแต่ละคนไปเปรียบเทียบกับคะแนนของคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ผู้ที่ได้คะแนนสูงกว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนับว่าเป็นคนเก่ง ส่วนผู้ที่ได้คะแนนต่ำกว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนับว่าเป็นคนอ่อน ผลการวัดแบบอิงกลุ่มสามารถแปลความหมายได้ว่าบุคคลนั้น เก่ง ปานกลาง หรืออ่อน เมื่อเทียบกับความสามารถโดยภาพรวมของกลุ่ม แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลนั้น บกพร่องในเนื้อหาหรือจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ใด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะนำการวัดผลแบบอิงกลุ่มมาใช้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน แต่เหมาะสมที่จะใช้วัดเพื่อจัดตำแหน่งผู้เรียนตามลำดับความสามารถ

2.การประเมินผลอิงเกณฑ์ เป็นการประเมินที่มีพื้นฐานความเชื่อมาจากทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ ที่ว่าแม้บุคคลจะมีความแตกต่างกันก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกัน ถ้าสามารถจัดประสบการณ์และเวลาให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละบุคคล จากแนวคิดดังกล่าวครูผู้สอนจึงมุ่งหวังที่จะให้ผู้เรียนทุกคนมีความรอบรู้ในเนื้อหาสาระที่จัดให้ การวัดผลที่จะชี้บ่งได้ว่านักเรียนรอบรู้หรือไม่ จึงต้องกำหนดเกณฑ์การผ่านสำหรับใช้บ่งชี้ความรอบรู้ของนักเรียนในแต่ละจุดประสงค์ หากนักเรียนผ่านจุดประสงค์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แสดงว่านักเรียนมีความรอบรู้ในจุดประสงค์นั้นแล้ว หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดแสดงว่ายังไม่รอบรู้จะต้องซ่อมเสริมแล้ววัดผลใหม่จนกว่าจะรอบรู้ ด้วยเหตุนี้การวัดผลแบบอิงเกณฑ์จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอนในระหว่างเรียน เพราะเมื่อครูได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้จบในแต่ละแผนการเรียนรู้แล้ว สามารถใช้การวัดผลประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ตรวจสอบได้ว่ามีนักเรียนคนใดบ้างที่ยังไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้