10.ครูต้องวัดผลพฤติกรรมทางการศึกษาของนักเรียนด้านใดบ้าง?

หลักสูตรทุกรายวิชามุ่งให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมทางการศึกษา 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ดังนั้นครูจะต้องจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน พร้อมทั้งวัดผลว่านักเรียนเกิดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน หรือไม่

พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย เป็นพฤติกรรมด้านสมองหรือด้านสติปัญญาของนักเรียน แบ่งออกเป็น 6 ระดับ จากความสามารถขั้นต่ำ ไปขั้นสูง ดังนี้
1.ความรู้ความจำ เป็นความสามารถในการระลึกได้ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา และสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างถูกต้อง เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถบอกสูตรการหาพื้นที่สื่เหลี่ยมผืนผ้าได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถบรรยายขั้นตอนการตอนกิ่งได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถบ่งชี้โทษของบุหรี่ได้
2.ความเข้าใจ เป็นความสามารถในการขยายความรู้ความจำให้กว้างไกล ออกไปอย่างสมเหตุสมผล โดยการแปลความ ตีความ ขยายความ เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถแปลความบทร้อบกรองให้เป็นร้อยแก้วได้ เพื่อให้นักเรียนอ่านแผนผังที่กำหนดให้ได้ เพื่อให้นักเรียนคาดคะเนแนวโน้มของข้อมูลจากกราฟที่กำหนดให้ได้
3.การนำไปใช้ เป็นความสามารถนำความรู้ความจำและความเข้าใจไปใช้ แก้ปัญหาในสถานการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์เกี่ยวกับการคูณได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้คำราชาศัพท์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์
4.การวิเคราะห์ ความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อค้นหาความจริงหรือความสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ในสิ่งนั้น เช่น เพื่อให้นักเรียนสามารถบอกสาเหตุสำคัญของปัญหามลภาวะเป็นพิษในปัจจุบันได้
เพื่อให้นักเรียนสามารถตั้งชื่อเรื่องจากบทความที่กำหนดให้อ่านได้
5.การสังเคราะห์ ความสามารถในการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพื่อให้นักเรียนเขียนเรียงความได้ เพื่อให้นักเรียนวางแผนการจัดแสดงละครได้
6.การประเมินค่า ความสามารถในการตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีกฏเกณฑ์ เช่น เพื่อให้นักเรียนตัดสินความน่าเชื่อถือจากข่าวที่กำหนดให้อ่านได้ เพื่อให้นักเรียนเปรียบเทียบคุณภาพของอาหารจากการสังเกตการปฏิบัติการปรุงอาหารแต่ละครั้งได้

พฤติกรรมด้านจิตพิสัย เป็นพฤติกรรมด้านจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของนักเรียน เช่น ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม ความก้าวร้าว การปรับตัว รวมถึงคุณธรรมต่าง ๆ ตัวอย่งจุดประสงค์ เช่น เพื่อให้นักเรียนสนุกสนาน เพลิดเพลินในวิชาศิลปะ เพื่อให้นักเรียนมีมรรยาทในการพูดต่อหน้าสาธารณะชน เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์

พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย เป็นความสามารถในการปฏิบัติสิ่งต่างๆ โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายทำงานประสานกับประสาทสัมผัสได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น เพื่อให้นักเรียนร้องเพลงได้ถูกตามทำนองและจังหวะ เพื่อให้นักเรียนตัดเย็บเสื้อตามแบบตัดได้ เพื่อให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะได้

พฤติกรรมทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ ถ้าบุคคลมีความรู้ที่ถูกต้องก็จะทำให้ปฏิบัติกิจรรมได้อย่างถูกต้อง เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็จะมีความรู้สึกที่ดี พึงพอใจในการปฏิบัติของตน คอยหาโอกาสที่จะปฏิบัติบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ และความมีคุณธรรมจริยธรรมจะช่วยให้บุคคลนำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมไปพร้อม ๆ กันทั้ง 3 ด้าน คือ พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย และไม่ควรละเลยที่จะวัดพฤติกรรมด้านใดด้านหนึ่งไป เพราะผลการวัดจะช่วยตรวจสอบได้ว่านักเรียนมีพฤติกรรมทางการศึกษาด้านใดบกพร่องบ้าง หากครูจะได้ปรับกรุงแก้ไขให้นักเรียนมีพฤติกรรมทางการศึกษาที่สมบูรณ์ทั้ง 3 ด้าน

4 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาในแต่ละบทค่อนข้างจะครอบคลุมดีแล้วครับ แต่อยากจะให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างให้มากกว่านี้หน่อยครับ เช่น การบรรยาย กับ การอธิบาย มีความเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด รบกวนอาจารย์ช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมหน่อยครับ
    เจษฎา สังข์ประเสริฐ 5253102120

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2552 เวลา 07:54

    บรรยาย กับ อธิบาย เป็นพฤติกรรมพุทธิพิสัยทั้งคู่ และ มีความหมายเหมือนกัน ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานบอกว่าบรรยาย หมายถึง ชี้แจง หรืออธิบายเรื่องให้ฟัง ส่วนอธิบาย หมายถึง ไขความ ขยายความ หรือชี้แจง ค่ะ เพชร

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ27 กรกฎาคม 2553 เวลา 07:31

    อาจารย์ค่ะหนูได้เข้ามาอ่านเพิ่มเติมแล้วนะคะ เนื้อหาสาระดีมากเลยค่ะอาจารย์ เดี๋ยวหนูจะเข้ามาอ่านบ่อย ๆ นะคะ

    น.ส.ผกาทิพย์ ออตเล่ง 5221154006
    น.ส.เสาวลักษณ์ บุญช่วย 5221154008
    น.ส.พรพิมล สรวยล้ำ 5221154017
    น.ส.บงกช สอนทุ่งใน 5221306043

    เอกจิตวิทยา D7

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ27 กรกฎาคม 2553 เวลา 07:36

    อาจารย์ค่ะ อาจารย์หาเกมส์อื่นมาอีกได้มั้ยคะ เอามาเยอะ ๆ เลยนะคะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมสำหรับบทความนี้