หน้า 13

12.เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการศึกษามีอะไรบ้าง?

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการศึกษามีหลายชนิด แต่ละชนิดเหมาะสมกับการวัดพฤติกรรมทางการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
  1. การทดสอบ(Testing)หมายถึง กระบวนการในการนำชุดของสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการวัดออกมาให้ครูสังเกตได้และวัดได้ โดยทั่วไปครูใช้การทดสอบเพื่อวัดพฤติกรรมพุทธิพิสัย ของนักเรียน อันประกอบไปด้วยความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยมีแบบทดสอบ(test) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา
  2. การสังเกต (Observation) หมายถึง การเฝ้าดูพฤติกรรมที่ต้องการสังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยอาศัยประสาทสัมผัสแล้วจดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการลงสรุปสิ่งที่ทำการสังเกตได้ เครื่องมือที่ใช้จดบันทึกผลการสังเกต เช่น แบบสำรวจรายการ มาตรประมาณค่า หรือแบบบันทึก ครูใช้การสังเกตในการวัดพฤติกรรมจิตพิสัย และทักษะพิสัย ของนักเรียน
  3. แบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นเครื่องมือวัดที่มีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ ซึ่งต้องการคำตอบเพียง 2 กรณี คือ ตอบรับกับตอบปฏิเสธ เช่นนักเรียนปกิบัติได้ หรือปฏิบัติไม่ได้ , นักเรียนมีพฤติกรรม หรือไม่มีพฤติกรรม นิยมใช้ประกอบการสังเกตว่าน.ร.มีพฤติกรรมจิตพิสัย หรือทักษะพิสัย ที่ครูต้องการตรวจสอบหรือไม่
  4. มาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นเครื่องมือวัดมีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ เหมือนกับแบบสำรวจรายการต่างกันตรงที่สามารถบอกระดับคุณภาพหรือระดับปริมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น นักเรียนปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้พอใช้ หรือปฏิบัติไม่ได้ นิยมใช้ประกอบการสังเกตพฤติกรรม จิตพิสัย หรือ ทักษะพิสัย ที่ต้องการทราบระดับคุณภาพ
  5. การจดบันทึก (Records) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจดบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์จากที่สังเกตได้ โดยการเขียนข้อความเกี่ยวกับ สิ่งที่สังเกตได้ลงในสมุดบันทึกอย่างเป็นระบบตามความเป็นจริง นิยมใช้เป็นเครื่องมือประกอบการสังเกตพฤติกรรมจิตพิสัย
  6. การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการพูดคุยกันอย่างมีจุดมุ่งหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ครูใช้การสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึก ของนักเรียน หรืออาจสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพื่อเกี่บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน
  7. แบบสอบถาม (Questionaire) เป็นชุดของคำถามที่ใช้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ โดยผู้ตอบจะต้องเขียนตอบลงในแบบสอบถามด้วยตัวเอง ครูใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลลักษณะเดียวกับการสัมภาษณ์ เช่น ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึก ของนักเรียน แต่จะใช้ได้ดีในกรณีที่นักเรียนอ่านออกเขียนได้
  8. สังคมมิติ (Sociometry) เป็นวิธีการวัดเพื่อศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล ว่านักเรียนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่มเพียงใด โดยให้นักเรียนตอบคำถามที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ใครเป็นเพื่อนรักของนักเรียน ,นักเรียนชอบเล่นกับใครแล้วครูนำคำตอบของนักเรียนมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่ามีนักเรียนคนใดบ้างที่เพื่อนไม่เลือก ซึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาด้านการปรับตัว