1.วัดผลเพื่อจัดตำแหน่ง เป็นการวัดผลเพื่อตรวจสอบว่านักเรียนมีความสามารถอยู่ ณ ตำแหน่งใดเมื่อเทียบกับผู้สอบทั้งหมดในกลุ่ม เช่น ใครมีความสามารถเป็นอันดับ 1 2 3 หรือ 4 ของกลุ่ม โดยทั่วไป มักใช้ในการสอบแข่งขัน เช่น สอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อ สอบคัดเลือกเข้าทำงาน สอบชิงทุนการศึกษา หรืออาจใช้ในการสอบเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม เก่ง – อ่อน ตามความสามารถ เพื่อจะได้จัดกิจกรรมให้เหมะสมกับสภาพผู้เรียน
2.วัดผลเพื่อเปรียบเทียบ เป็นการวัดผลเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียนว่า งอกงามขึ้นจากเดิมเพียงใด โดยเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างผู้สอบคนเดียวกัน หรือกลุ่มเดียวกันในเวลาที่ต่างกัน เช่น นำผลการวัดก่อนเรียนกับหลังเรียนของนักเรียนคนเดียวกันมาเปรียบเทียบเพื่อดูว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการเรียนการสอนเพียงใด
3.วัดผลเพื่อวินิจฉัย เป็นการวัดผลเพื่อค้นหาสาเหตุของความบกพร่องของผู้เรียน เพื่อครูจะได้หาทางช่วยเหลือหรือซ่อมเสริมได้ตรงจุด เช่น วัดผลเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมนักเรียนจึงอ่านหนังสือไม่ออก หรือวัดผลเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมนักเรียนจึงแก้ปัญหาโจทย์การคำนวณไม่ได้
4.วัดผลเพื่อพยากรณ์ เป็นการวัดผลเพื่อทำนายความสำเร็จในอนาคตของผู้เรียน เช่น นักเรียนจะเรียนต่อสาขานั้น ๆ ได้สำเร็จหรือไม่ หรือจะประกอบอาชีพนั้น ๆ ได้หรือไม่ เครื่องมือวัดผลสำหรับใช้ในการพยากรณ์ความสำเร็จในอนาคตของผู้เรียน เช่น แบบทดสอบวัดความถนัดต่าง ๆ แบบทดสอบคัดเลือกเข้าเรียน หรือเข้าทำงานสาขาต่าง ๆ
5.วัดผลเพื่อประเมินผล เป็นการวัดผลเพื่อนำผลไปใช้ตัดสินคุณภาพการศึกษาว่า ดี – ไม่ดี เหมาะสม – ไม่เหมาะสม เพียงใด เช่น วัดผลเพื่อตัดสินผลการเรียนของนักเรียนในแต่ละวิชา ว่า ผ่าน –ไม่ผ่าน หรือ ควรได้เกรด A B C D หรือ E ตัดสินคุณภาพการสอนของครู คุณภาพของหลักสูตร หรือ คุณภาพของสื่อการสอน ว่าเหมาะสมหรือไม่