1.เป็นการวัดในสิ่งที่เป็นนามธรรม การวัดผลโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือ การวัดในสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งเป็นการวัดทางกายภาพ ที่สามารถมองเห็นและจับต้องสิ่งที่ต้องการวัดได้ สามารถวัดได้โดยตรง เช่น การวัดส่วนสูงคน การชั่งนำหนักผัก การวัดความยาวของผ้า ส่วนการวัดอีกลักษณะหนึ่ง คือ การวัดสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่ไม่สามารถมองเห็นและจับต้องสิ่งที่ต้องการวัดได้ ต้องอาศัยเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้ถูกวัดแสดงพฤติกรรมที่ต้องการวัดออกมาให้สังเกตเห็นได้เสียก่อนจึงค่อยทำการวัด เช่น การวัดความรู้นักเรียน การวัดเชาวน์ปัญญา การวัดเจตคติ การวัดความสนใจ ซึ่งการวัดเหล่านี้เป็นสิ่งที่การศึกษาต้องการวัดทั้งสิ้น
2. มีหน่วยวัดไม่คงที่ หน่วยการวัดทางด้านนามธรรม คือ คะแนน ผลการวัดที่ได้จะเปลี่ยนไปตามเครื่องมือที่ใช้วัด 1 คะแนน ที่ได้ จากแบบทดสอบต่างฉบับกัน มีขนาดไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ 1 คะแนน จากข้อสอบแต่ละข้อในฉบับเดียวกันยังมีขนาดไม่เท่ากัน เช่นนี้ เรียกว่าหน่วยวัดไม่คงที่ ต่างจากหน่วยการวัดด้านรูปธรรม เช่น เซนติเมตร เมตร กรัม กิโลกรัม มีหน่วยวัดเป็นมาตรฐานสากล ความยาว 1 เซนติเมตรของไม้บรรทัดทุกอันมีขนาดเท่ากัน เรียกว่ามีหน่วยวัดคงที่ เราจึงสามารถนำผลการวัดความยาวของสิ่งของที่ใช้ไม้บรรทัดคนละอันวัดมาเปรียบเทียบกันได้ แต่ไม่สามารถนำคะแนนจากการวัดโดยใช้แบบทดสอบคนละฉบับกันมาเปรียบเทียบกันได้ หากต้องการเปรียบเทียบกันต้องใช้วิธีการทางสถิติปรับหน่วยวัดให้มีขนาดเท่ากันเสียก่อน
3.มีความคลาดเคลื่อนปนอยู่เสมอ ผลการวัดด้านนามธรรม มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการวัดทางด้านรูปธรรมและความคลาดเคลื่อนบางอย่างไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้
- ความคลาดเคลื่อนที่ขจัดได้ เช่น ครูตรวจผิด คำชี้แจงไม่ชัดเจน พิมพ์ข้อสอบผิด ข้อสอบแนะคำตอบ ข้อสอบยาก นักเรียนลอกกัน ฯลฯ
- ความคลาดเคลื่อนที่ขจัดไม่ได้ เช่น ความวิตกกังวลของผู้สอบ สุขภาพของผู้สอบ ผู้สอบเดาคำตอบ สภาพอากาศร้อนหรือหนาวเกินไป ฯลฯ
การวัดทางการศึกษาต้องทำอย่างระมัดระวัง ขจัดความคลาดเคลื่อนในส่วนที่สามารถขจัดได้ให้หมดไป เพื่อให้ผลการวัดมีความคลาดเคลื่อนปนอยู่น้อยที่สุด
4.ไม่มีความสมบูรณ์ในตัว คือไม่สามารถวัดทั้งหมดของสิ่งที่ต้องการวัดได้ เราวัดได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ต้องการวัดความรู้เกี่ยวกับการคูณเลขหลักเดียว ถ้าจะวัดให้ครบเนื้อหาทั้งหมด ต้องออกข้อสอบ ตั้งแต่ 0 x 0 0 x 1…9 x 8 จนถึง 9 x 9 รวมทั้งหมด 100 ข้อ ซึ่งนักเรียนไม่สามารถตอบคำถามจำนวนมากในเวลาจำกัดได้ นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาอื่นที่จะต้องวัดอีก จึงต้องสุ่มคำถามที่สำคัญเพียงบางส่วนมาวัดเท่านั้น ดังนั้นนักเรียนที่สอบได้ 0 คะแนน จึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรู้เลยและนักเรียนที่ได้คะแนนเต็มก็ไม่ได้หมายความว่าเขารู้เนื้อหาวิชานั้น ทั้งหมด 100 % ต่างจากผลการวัดทางด้านรูปธรรมที่มีความสมบูรณ์ในตัว คือ สามารถวัดทั้งหมดของสิ่งที่ต้องการวัดได้ เช่น ต้องการวัดความสูงของคน เราสามารถวัดความสูงได้ตั้งแต่ปลายเท้าจรดศีรษะ ผลการวัดที่ได้จึงบอกถึงความสูงทั้งหมดของบุคคลนั้น
5.เป็นงานสัมพันธ์ เนื่องจากผลการวัดไม่มีความหมายในตัวเอง จึงต้องนำผลการวัดที่ได้ไปสัมพันธ์หรือเปรียบเทียบกับบางสิ่งเสียก่อนจึงจะมีความหมาย เช่น ด.ช.อ้น สอบได้ 25 คะแนน ยังไม่สามารถบอกได้ทันทีว่า เขามีความสามารถเพียงใด ต้องนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของห้อง หรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ครูกำหนดไว้ ต่างจากการวัดด้านรูปธรรมที่เครื่องมือมีหน่วยวัดคงที่ เป็นมาตรฐานสากล ผลการวัดจึงมีความหมายในตัวเอง เมื่ออ่านผล ก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่ามีขนาดหรือปริมาณใด เช่น ระยะทางจากบ้านถึงโรงเรียน 1 กม. หรือซื้อผ้าตัดเสื้อยาว 1 เมตร ก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่ามีขนาดเท่าใด