ถ้าแบ่งประเภทการวัดผลการศึกษาตามจุดประสงค์ของการประเมินแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1.การประเมินผลก่อนเรียน เป็นการประเมินผลก่อนเริ่มต้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อหาสารสนเทศของผู้เรียนเบื้องต้น ใน 2 ประเด็น ต่อไปนี้ 1. ความรู้ที่เป็นพื้นฐานของเรื่องใหม่ เพื่อนำผลการประเมินมาซ่อมเสริมให้นักเรียนทุกคนมีพื้นฐานก่อนเรียนเรื่องใหม่ ช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน เช่น ก่อนครูคณิตศาสตร์จะสอนเรื่องการคูณ ควรตรวจสอบความรู้พื้นฐานเรื่องการบวก 2. ความรอบรู้ในเรื่องใหม่ที่จะเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะกับสภาพของผู้เรียน
2.การประเมินผลระหว่างเรียน เป็นการประเมินผลย่อยในระหว่างเรียนเพื่อตรวจสอบว่านักเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยหรือไม่ หากพบว่ายังไม่ผ่านจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ผ่านก่อนเข้าสู่หน่วยต่อไป ช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้จากการประเมินนำไปใช้ในการ
ปรับปรุงข้อบกพร่อง และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน และใช้ในการปรับปรุงข้อบกพร่องของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
3.การประเมินผลหลังเรียน เป็นการประเมินเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อตัดสินความสำเร็จของผู้เรียน ว่ามีความรอบรู้ในเรื่องที่เรียนระดับใด ควรได้ระดับผลการเรียนเท่าใด หากนำผลการประเมินหลังเรียนไปเปรียบเทียบกับผลการประเมินก่อนเรียนแล้วจะช่วยให้ทราบว่านักเรียนมีพัฒนาการขึ้นเพียงใด
ถ้าแบ่งประเภทการวัดผลการศึกษาตามระบบของการประเมินแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.การประเมินผลอิงกลุ่ม เป็นการประเมินที่เกิดจากพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลตามทฤษฎีการวัดแบบดั้งเดิม การแปลความหมายผลการวัดแบบอิงกลุ่มจึงนำคะแนนของนักเรียนแต่ละคนไปเปรียบเทียบกับคะแนนของคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ผู้ที่ได้คะแนนสูงกว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนับว่าเป็นคนเก่ง ส่วนผู้ที่ได้คะแนนต่ำกว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนับว่าเป็นคนอ่อน ผลการวัดแบบอิงกลุ่มสามารถแปลความหมายได้ว่าบุคคลนั้น เก่ง ปานกลาง หรืออ่อน เมื่อเทียบกับความสามารถโดยภาพรวมของกลุ่ม แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลนั้น บกพร่องในเนื้อหาหรือจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ใด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะนำการวัดผลแบบอิงกลุ่มมาใช้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน แต่เหมาะสมที่จะใช้วัดเพื่อจัดตำแหน่งผู้เรียนตามลำดับความสามารถ
2.การประเมินผลอิงเกณฑ์ เป็นการประเมินที่มีพื้นฐานความเชื่อมาจากทฤษฎีการเรียนเพื่อรอบรู้ ที่ว่าแม้บุคคลจะมีความแตกต่างกันก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกัน ถ้าสามารถจัดประสบการณ์และเวลาให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละบุคคล จากแนวคิดดังกล่าวครูผู้สอนจึงมุ่งหวังที่จะให้ผู้เรียนทุกคนมีความรอบรู้ในเนื้อหาสาระที่จัดให้ การวัดผลที่จะชี้บ่งได้ว่านักเรียนรอบรู้หรือไม่ จึงต้องกำหนดเกณฑ์การผ่านสำหรับใช้บ่งชี้ความรอบรู้ของนักเรียนในแต่ละจุดประสงค์ หากนักเรียนผ่านจุดประสงค์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แสดงว่านักเรียนมีความรอบรู้ในจุดประสงค์นั้นแล้ว หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดแสดงว่ายังไม่รอบรู้จะต้องซ่อมเสริมแล้ววัดผลใหม่จนกว่าจะรอบรู้ ด้วยเหตุนี้การวัดผลแบบอิงเกณฑ์จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอนในระหว่างเรียน เพราะเมื่อครูได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้จบในแต่ละแผนการเรียนรู้แล้ว สามารถใช้การวัดผลประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ตรวจสอบได้ว่ามีนักเรียนคนใดบ้างที่ยังไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้